เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 11 กรกฎาคม 2566 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 2153 คน
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจักร์ เมืองใจ ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระศักดิ์ สมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และอาจารย์นพณัฐ วรรณภีร์ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการฯ ให้การต้อนรับคณะทำงาน GenKX จากฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัทเจเนเรชั่น ยูเอ็มพลอยด์เอ็ด (ประเทศไทย ) ในโอกาสที่เดินทางเข้าหารือถึงแนวทางความรวมมือโครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศไทย โดย GenNX Model ซึ่งคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำ GenNX Model เข้ามามีบทบาทในการจัดการองค์กรในด้านต่างๆเช่น ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากรและนักศึกษา ให้ตรงตามความต้องการของประเทศชาติ และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทเจเนเรชั่น ยูเอ็มพลอยด์เอ็ด (ประเทศไทย ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้ GenNX Model ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเข้าสู่อาชีพในระดับโลก ซึ่งภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นจะได้มีการรวบรวมข้อคิดเห็นเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการและต่อยอดสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาต่อไป
สำหรับ GenNX Model เป็นรูปแบบการพัฒนาทักษะการทำงานผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นแบบเข้มข้น (Bootcamp) ปรับรูปแบบการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของประเทศไทย โดยดำเนินการร่วมกับ Generation องค์กรที่มีภารกิจสำคัญในการจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้ต้องการหางานหรือผู้ว่างงานกับบริษัทหรือนายจ้าง ผ่านกระบวนการฝึกอบรมแบบเข้มข้น (Bootcamp) โดยใช้หลักสูตรอบรมระยะสั้นประมาณ 4-12 สัปดาห์ในภาษาท้องถิ่น (Local language) ของประเทศนั้นๆ หรือใช้ 2 ภาษา (Bilingual) ฝึกอบรมทั้งด้านเทคนิคเฉพาะและทักษะในการหางาน ทั้ง Behavior, Mindset, Professional presence เช่น การสัมภาษณ์งานเสมือนจริง (Role-play interview) การนำเสนอตัวตนในการหางาน เน้นการฝึกอบรมสำหรับอาชีพที่มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนจากสถิติพบว่าผู้เข้าร่วมโปรแกรม GenNX Model 79% สามารถหางานได้ภายใน 3 เดือนหลังจากเข้ารับการฝึกอบรม มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าเฉลี่ย 84% และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น 2-6 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนเข้าร่วมโปรแกรม โดยมีหลักสูตรที่สำคัญ 26 หลักสูตรใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) Customer Service & Sales 2) Digital & IT 3) Healthcare และ 4) Skilled Trades สำหรับโครงการในประเทศไทยจะเริ่มนำร่องใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล (อาทิ อาชีพ Software/web developer) และ Healthcare ซึ่งตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยที่มีความต้องการบุคลากรของอุตสาหกรรมดิจิทัลมากกว่า 30,000 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า
(ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.))
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา